[download เอกสาร]
จุดเริ่มต้นและพัฒนาการของการเรียนรู้สู่การเปลี่ยนแปลงเริ่มต้นโดยแจ็ค เมซิโรว์ (Jack Mezirow) ศาสตราจารย์ด้านการศึกษาผู้ใหญ่ (adult education) ได้เริ่มพัฒนาทฤษฎีนี้ขึ้นในปี ค.ศ. 1978 โดยทฤษฎีการเรียนรู้เพื่อการเปลี่ยนแปลงนั้นเป็นกระบวนการเรียนรู้ที่นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงตนเองอย่างลึกซึ้ง โดยผู้เรียนต้องเปลี่ยนแปลงทั้งโลกทัศน์ (affective attributes) ความรู้ความเข้าใจ (cognitive attributes) และพฤติกรรม (psychomotor attributes) ที่เป็นการเปลี่ยนแปลงจากภายในที่เป็นรากฐานของบุคคลเพื่อให้เกิดความเข้าใจในตนเองอย่างลึกซึ้ง รวมทั้งตระหนักต่อความสัมพันธ์กับเพื่อนมนุษย์และมุมมองต่อสังคม สภาพแวดล้อม ไปจนถึงการตัดสินใจเพื่อนำตนเองไปสู่บทบาทใดบทบาทหนึ่งที่เปลี่ยนไป คือมีการเปลี่ยนแปลงอย่างครบถ้วนในทุกด้านแบบ holistic change
ขั้นตอน/กระบวนการเรียนรู้เพื่อการเปลี่ยนแปลง (transformation process) เพื่อนำมาปรับใช้ในการเรียนการสอนการบริบาลทางเภสัชกรรมของคณะเภสัชศาสตร์ ในรายวิชาการปฏิบัติการเภสัชกรรมคลินิกสำหรับนักศึกษาเภสัชศาสตร์ประกอบไปด้วย 3 ขั้นตอน ได้แก่
-
Program Learning Outcomes
เป็นขั้นตอนแรกของกระบวนการ โดยเป็นการกำหนดผลการเรียนรู้ (learning outcome) ที่ต้องการให้ผู้เรียนทุกคนประสบความสำเร็จหลังเสร็จสิ้นกระบวนการเรียนรู้ ซึ่งผลการเรียนรู้ที่กำหนดนั้นต้องมีความชัดเจน เป็นรูปธรรม และวัดผลได้ นอกจากนี้ยังควรออกแบบกระบวนการในการเรียนการสอนเพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลง (change) แก่ผู้เรียนให้ได้ตามผลการเรียนรู้ที่ตั้งไว้
ตัวอย่างการกำหนดผลการเรียนรู้ด้านทักษะ (skills) ในรายวิชาการปฏิบัติการเภสัชกรรมคลินิกสำหรับนักศึกษาเภสัชศาสตร์ชั้นปีที่ 4
-
นักศึกษาสามารถสัมภาษณ์อาการเจ็บป่วย ประวัติการใช้ยา แปลผลการตรวจร่างกาย การตรวจทางห้องปฏิบัติการและประวัติการใช้ยาของผู้ป่วย เพื่อประเมินความเจ็บป่วยเบื้องต้นได้ถูกต้อง
-
นักศึกษาสามารถวิเคราะห์ใบสั่งยาเพื่อค้นหาปัญหาจากการใช้ยาได้ถูกต้อง
-
นักศึกษาสามารถค้นหาปัญหาจาการใช้ยาระหว่างการสัมภาษณ์ประวัติผู้ป่วย ประวัติการใช้ยา แปลผลตรวจร่างกาย การตรวจทางห้องปฏิบัติการได้ถูกต้อง
-
นักศึกษาสามารถสืบค้นเอกสารทางวิชาการที่เกี่ยวข้องได้ถูกต้องเป็นขั้นตอน
-
นักศึกษาสามารถแก้ปัญหาความเจ็บป่วยของผู้ป่วยโดยการใช้ยาหรือไม่ใช้ยาได้ถูกต้อง
-
นักศึกษาสามารถเตรียมฉลากยาและส่งมอบยาให้แก่ผู้ป่วยได้ถูกต้องเป็นขั้นเป็นตอน
-
นักศึกษาสามารถแนะนำวิธีการใช้ยาเทคนิคพิเศษได้ถูกต้องเป็นขั้นเป็นตอน
ตัวอย่างผลการเรียนรู้ด้านเจตคติ (attitude) ในรายวิชาการปฏิบัติการเภสัชกรรมคลินิกสำหรับนักศึกษาเภสัชศาสตร์ชั้นปีที่ 4
-
นักศึกษาสามารถตัดสินใจเลือกยาได้โดยใช้ข้อมูลทางวิชาการ
-
นักศึกษาสามารถตัดสินใจเลือกยาได้โดยคำนึงถึงความต้องการของผู้ป่วย
-
นักศึกษาสามารถตัดสินใจเลือกยาได้โดยมีข้อมูลที่ครบถ้วน
-
นักศึกษาสามารถตัดสินใจเลือกยาได้โดยพิจารณาข้อดีข้อเสียของแต่ละวิธี
-
Teaching & Learning Methods
เป็นขั้นตอนการออกแบบกระบวนการเรียนการสอน ซึ่งควรมีความหลากหลายทั้งการสอนแบบบรรยายและการทำกิจกรรมระหว่างเรียน (active leaning) เพื่อกระตุ้นความสนใจของผู้เรียน และให้ผู้เรียนเกิดความรู้ความเข้าใจและเกิดผลการเรียนรู้ตามที่ได้ตั้งไว้ตามวัตถุประสงค์ของการเรียนรู้
ตัวอย่างกิจกรรมการเรียนการสอนในรายวิชาการปฏิบัติการเภสัชกรรมคลินิกสำหรับนักศึกษาเภสัชศาสตร์ชั้นปีที่ 4
-
นักศึกษาจะถูกแบ่งออกเป็นกลุ่มย่อยๆ และมีอาจารย์ประจำกลุ่มเพื่อดูแลนักศึกษา
-
การประเมินนักศึกษาโดยอาจารย์ตามเทคนิคการเรียนการสอนแบบ VARK โดย Neil Fleming ได้แบ่งการเรียนรู้ออกเป็น 4 ประเภท โดยผู้เรียนแต่ละคนมีรูปแบบทางการเรียนรู้ที่แตกต่างกัน ได้แก่
1) ผู้เรียนที่สนใจสิ่งที่มองเห็น คือเรียนรู้ด้วยการดู (Visual: V)
2) ผู้เรียนที่ชอบการพูดคุย คือการเรียนรู้ด้วยการฟัง (Aural: A)
3) ผู้เรียนที่ชอบการอ่าน/เขียน (Read/Write: R)
4) ผู้เรียนที่ชอบการลงมือปฏิบัติ (Kinaesthetic: K)
โดยผู้เรียนคนหนึ่งๆ อาจจะมีรูปแบบการเรียนรู้ที่มากกว่าหนึ่งรูปแบบก็ได้ แต่มักจะมีไม่ครบทั้ง 4 ด้าน โดยผู้สอนควรจัดสภาพแวดล้อมการเรียนรู้ตามรูปแบบการเรียนรู้ของผู้เรียนเพื่อให้เกิดผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนรู้สูงสุด
-
มีการจัดสื่อการเรียนการสอน อุปกรณ์ประกอบการเรียนรู้ของนักศึกษา เช่น คู่มือทักษะตามเกณฑ์ความรู้ความสามารถทางวิชาชีพของผู้ประกอบวิชาชีพเภสัชกรรม รายการยาเทคนิคพิเศษที่ต้องให้คำแนะนำแก่ผู้ป่วย เช่น ยาหยอดตา เป็นต้น
-
มีการเรียนการสอนแบบกลุ่ม ได้แก่
-
การสัมภาษณ์ผู้ป่วยจำลองและผู้ป่วยจริง
-
มีการจัดทำสื่อเพื่อแนะนำการใช้ยา เช่น การถ่ายคลิปวิดิโอ การทำแผ่นพับเพื่อให้ความรู้แก่ผู้ป่วย
-
มีการอภิปรายกลุ่มเพื่อเลือกใช้ยา
-
มีการสะท้อนความคิดในทุกคาบการเรียนการสอนเพื่อให้ผู้เรียนทราบจุดอ่อนจุดแข็งของตนเองเพื่อนำไปพัฒนาตนเอง
-
มีการทำ formative assessment ในทุกคาบการเรียนการสอน
-
มีการทำรายการยาที่นักศึกษาจำเป็นต้องทราบ (top drugs) เป็นต้น
-
Assessment Methods
ขั้นตอนการประเมินผลการเรียนรู้ โดยประเมินผลตามผลการเรียนรู้และวัตถุประสงค์ของการเรียนรู้ที่ตั้งไว้ ซึ่งการประเมินผลนั้นทำได้หลากหลายรูปแบบ ได้แก่
-
มีการประเมินความเห็นของผู้เรียนต่อผลการเรียนรู้ของโปรแกรมหรือรายวิชา (program learning outcome) ในคาบแรกของวิชาและหลังเสร็จสิ้นการสอบในคาบสุดท้ายของวิชา
-
Formative assessment เป็นการประเมินระหว่างเรียน โดยประเมินในทุกคาบของการเรียนการสอน เช่น การใช้แบบประเมิน Mini-CEX (patient encounter) ซึ่งใช้ประเมินนักศึกษาในด้านทักษะการสัมภาษณ์และความเป็นวิชาชีพในด้านการรับมือกับผู้ป่วย รวมถึงการสะท้อนความเห็นแก่นักศึกษาโดยอาจารย์ที่ปรึกษาประจำกลุ่ม ทั้งจุดแข็งและจุดที่ควรปรับปรุงของนักศึกษา
-
Summative assessment การประเมินสรุปท้ายวิชา เป็นการประเมินในครั้งสุดท้ายของการเรียนการสอนเพื่อเป็นการประเมินสรุปผลของรายวิชานั้น ๆ ได้แก่ คะแนนสรุปทักษะต่าง ๆ ของนักศึกษาที่เป็นผลการเรียนรู้ของรายวิชา เช่น การสัมภาษณ์ผู้ป่วย การแปลผลทางห้องปฏิบัติการ การวิเคราะห์ใบสั่งยา การค้นหาปัญหาจากยา (drug-related problem: DRP) การค้นหาเอกสารทางวิชาการ การส่งมอบยา การแนะนำการใช้ยาเทคนิคพิเศษ เป็นต้น โดยการประเมิน summative assessment นี้อาจมีการติดตามตั้งแต่ชั้นปีที่ 4 ไปจนถึงปีที่ 5 และ 6 ในรายวิชาปฏิบัติการฯ เพื่อดูผลด้านพัฒนาการการเรียนรู้ของผู้เรียนในระยะยาวได้อีกด้วย
อย่างไรก็ตามกระบวนการเรียนรู้เพื่อการเปลี่ยนแปลงเพื่อนักศึกษาเภสัชศาสตร์ไปเป็นเภสัชกรนั้น ไม่ได้เกิดจากการที่นักศึกษาเลียนแบบบทบาทของอาจารย์ผู้สอน แต่เป็นการพัฒนากระบวนการคิดวิเคราะห์และสังเคราะห์ข้อมูลของนักศึกษาที่ได้รับผ่านกระบวนการเรียนรู้ที่ครบถ้วนทั้งสามด้าน ได้แก่ องค์ความรู้ ทักษะและเจตคติ โดยใช้กระบวนการออกแบบการเรียนรู้ การประเมินผลการเรียนรู้ และสะท้อนผลการเรียนรู้แก่นักศึกษา เพื่อให้นักศึกษามีแนวทางการเรียนรู้เพื่อการเปลี่ยนแปลงตนเองต่อไป
นอกจากนี้คณะเภสัชศาสตร์ยังมีการกำหนดแผนการจัดทำการจัดการองค์ความรู้ (Knowledge Management : KM) ที่เกี่ยวข้องกับการจัดการเรียนการสอน ทำให้เกิดแนวทางหรือคู่มือที่ดีสำหรับให้คณาจารย์นำไปพัฒนากระบวนการจัดการเรียนการสอน เพื่อสร้างบัณฑิตที่พึงประสงค์ การจัดให้มีการสอนทีดี การชี้แนะที่ช่วยให้ผู้เรียนมีความพร้อม สนุกกับการเรียนรู้ และการส่งเสริมให้ผู้เรียนมีแรงจูงใจที่อยากจะเรียนรู้จะช่วยให้ผู้เรียนสามารถเรียนรู้ และพัฒนาทักษะทางวิชาการได้ดีขึ้น ดังนั้นรูปแบบการจัดการเรียนการสอนที่เปลี่ยนการเรียนการสอนแบบให้มีความสนุกกับการเรียนจึงช่วยให้ผู้เรียนสามารถพัฒนาทักษะทางด้านวิชาการได้ดีขึ้น คณะเภสัชศาสตร์ทำการกำหนดประเด็นความรู้สำหรับการจัดการความรู้ คือ การจัดการเรียนการสอนเพื่อส่งเสริมการเรียนรู้ของผู้เรียน ดังนั้นแล้วการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์ร่วมกันทำให้เกิดการจัดการเรียนการสอนที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น
ตัวอย่างแนวทางการจัดการเรียนการสอนบูรณาการแบบ world cafe สำหรับวิชาเภสัชวิทยา โอสถกรรมศาสตร์ และปฏิบัติการโอสถกรรมศาสตร์
กำหนดเป้าหมาย
-
เพิ่มทักษะการคิดวิเคราะห์ด้วยการบูรณาการความรู้กับวิชาต่างๆ เพื่อตัดสินใจวางแผนการรักษาและการเลือกใช้ยาให้เหมาะสมกับผู้ป่วยแต่ละราย
-
การทำงานร่วมกันเป็นทีม
องค์ประกอบของกิจกรรม
-
ประเด็นของกรณีศึกษา การกำหนดกรณีศึกษาควรจะสอดคล้องกับเนื้อหาในรายวิชา pharmacology และ pharmacotherapy เพื่อเป็นการเพิ่มพูนความรู้และความเข้าใจเพิ่มขึ้นจากเนื้อหาในเชิงทฤษฎี
-
เอกสารประกอบการสอนที่เกี่ยวข้องกับกรณีศึกษา
-
กระดาษ flipboard และปากกา
รูปแบบการจัดกิจกรรม
การเรียนการสอนที่จัดกิจกรรมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ โดยเน้นให้นักศึกษามีส่วนร่วมและแสดงความคิดเห็น มีการกำหนดประเด็นในการศึกษาเป็น case study และแบ่งกลุ่มนักศึกษา (กลุ่มละ 6-7 คน) เพื่อทำกิจกรรมในแต่ละสถานี (case study) ระยะเวลา 15-20 นาที โดยมีอาจารย์ประจำในแต่ละฐานคอยชี้แนะแนวทางในการแก้ปัญหา และกระตุ้นให้ทุกคนได้มีส่วนร่วม โดยนักศึกษาจะเขียนคำตอบ ประเด็นการแก้ปัญหาลงในกระดาษและวนจนครบทุกฐานของกรณีศึกษา เมื่อนักศึกษาทำกิจกรรมจนครบทุกสถานีแล้ว นักศึกษาแต่ละกลุ่มจะช่วยกันสรุปการแก้ปัญหาในแต่ละ case และมีการอภิปรายร่วมกันระหว่างนักศึกษา และอาจารย์สรุปเพิ่มเติมในประเด็นต่างๆ โดยเน้นแนวคิดในการแก้ไขปัญหาของผู้ป่วยจากความรู้ที่ได้เรียนมาและการค้นหาข้อมูลที่สำคัญและจำเป็น นักศึกษากลุ่มสุดท้ายของแต่ละฐาน ออกมานำเสนอสรุปประเด็นการแก้ปัญหาในแต่ละ case โดยมีอาจารย์ร่วมกันอภิปราย ระยะเวลา 15 นาที
ตัวอย่างแนวทางการจัดการเรียนการสอนแบบกระบวนการกลุ่มสำหรับวิชาการสร้างเสริมสุขภาพ (Health Promotion)
กำหนดเป้าหมาย
-
นักศึกษาทำงานกลุ่มโดยคิดวิเคราะห์ และสามารถบูรณาการความรู้การสร้างเสริมสุขภาพไปประยุกต์ใช้ในชุมชนได้
-
นักศึกษาได้เรียนรู้และฝึกทักษะกระบวนการกลุ่ม ได้ฝึกบทบาทหน้าที่และความรับผิดชอบในการทำงานกลุ่ม การยอมรับกันและกัน การเป็นผู้นำ ผู้ตาม
องค์ประกอบของกิจกรรม
-
เอกสารประกอบการสอนที่เกี่ยวข้องกับกรณีศึกษา
-
การนำเสนอกรณีศึกษา
-
อาจารย์ประจำกลุ่มคอยดูแลนักศึกษาตลอดกิจกรรม
รูปแบบการจัดกิจกรรม
การเรียนการสอนโดยการระดมความคิดเห็นแบบกระบวนการกลุ่ม โดยจัดกิจกรรมทั้งภานในมหาวิทยาลัยและภายนอกมหาวิทยาลัย โดยแบ่งนักศึกษาออกเป็น 6 กลุ่มและมีอาจารย์ประจำกลุ่ม ซึ่งหน้าที่ของอาจารย์ คือ มอบหมายงาน ฝึกให้นักศึกษาเสียสละเวลาของตนเองมาทำงานกลุ่มร่วมกัน รวมทั้งการทำปฏิบัติการซึ่งต้องอาศัยการทำงานร่วมกัน และการสังเกตพฤติกรรมของนักศึกษาระหว่างการเรียนในเรื่องของการมีส่วนร่วมในการนำเสนองานหลังจากทำกิจกรรมนักศึกษาเสนอปัญหา อุปสรรค และแนวทางการแก้ไข เน้นการเรียนรู้แบบร่วมมือ (Cooperative Learning)
ลักษณะสำคัญของการจัดกิจกรรม ได้แก่
-
มีการทำงานกลุ่มร่วมกัน มีปฏิสัมพันธ์ภายในกลุ่มและระหว่างกลุ่ม
-
สมาชิกในกลุ่มมีความสามารถแตกต่างกันเพื่อช่วยเหลือกัน
เน้นกระบวนการทำงานที่มีขั้นตอนหรือวิธีการที่จะช่วยให้การดำเนินงานกลุ่มเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ คือ สมาชิกทุกคนต้องทำความเข้าใจในเป้าหมายการทำงาน วางแผนปฏิบัติงานร่วมกัน ดำเนินงานตามแผนตลอดจนประเมินผลและปรับปรุงงาน ผู้สอนแนะนำวิธีการทำงานกลุ่มและบทบาทของสมาชิกในกลุ่ม
การสรุปบทเรียน ผู้สอนควรช่วยเสริมเพิ่มเติมความรู้ ให้ครบตามเป้าหมายการเรียนที่กำหนดไว้ และร่วมกันประเมินผลในส่วนที่เด่นและที่ควรปรับปรุงแก้ไข โดยการสะท้อนความคิดเห็นจากการทำ focus group
ตัวอย่างแนวทางการจัดการเรียนการสอนแบบบูรณาการ (Integrated Learning) สำหรับวิชาปฏิบัติการการประกันคุณภาพเภสัชภัณฑ์ (Quality Assurance for Pharmaceutical Products Laboratory)
การจัดการเรียนรู้แบบบูรณาการ เป็นการสอนที่เชื่อมโยงความคิดรวบยอดหรือทักษะเข้าด้วยกันเพื่อให้เกิดการเรียนรู้โดยองค์รวม โดยการเชื่อมโยงความรู้ในวิชาสาขาต่างๆ เป็นการบูรณาการระหว่างสาขาวิชา ที่สัมพันธ์เกี่ยวข้องกันมาผสมผสานเข้าด้วยกัน เพื่อให้เกิดองค์ความรู้ที่สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้ มีการกำหนดหัวเรื่องที่เชื่อมโยงความคิดรวบยอดต่างๆ มีการวางแผนการจัดกิจกรรมและโครงการต่างๆ ที่ผู้เรียนจะต้องศึกษาและลงมือปฏิบัติ โดยมีการกำหนดหัวข้อ การจัดให้นักศึกษาได้ฝึกทักษะและเรียนรู้เนื้อหาต่างๆ อย่างเชื่อมโยงสัมพันธ์กัน เพื่อการเรียนรู้ที่สามารถนำไปปฏิบัติได้จริง
กำหนดเป้าหมาย
-
นักศึกษาสามารถเชื่อมโยงเนื้อหาสาระทั้งหลายเข้าด้วยกันอย่างมีความหมายและนำไปประยุกต์ใช้ได้จริงได้แก่ การผลิตยา ความรู้ทางคลินิกในการดูแลผู้ป่วย และสังคม
-
กระตุ้นนักศึกษาให้เกิดความคิดและตระหนักถึงความเชื่อมโยงระหว่างความคิด ความสำคัญของการจัดการเรียนรู้แบบบูรณาการ
รูปแบบการจัดกิจกรรม
การมอบหมายงานค้นคว้าให้นักศึกษาทำงานร่วมกันเป็นกลุ่ม โดยเชื่อมโยงงานด้านการประกันคุณภาพและการขึ้นทะเบียนตำรับยา กับความรู้ทางคลินิก สังคมเพื่อให้เห็นภาพรวมและเกิดความคิดรวบยอด และมีการอภิปรายนำเสนอหน้าชั้นเรียน
แนวทางปฎิบัติสำหรับการบูรณาการโดย
-
กำหนดปัญหาที่ต้องการให้เกิดการเรียนรู้แบบบูรณาการ
-
พิจารณาเนื้อหาจากวิชาที่เชื่อมโยงกับปัญหาต้องการให้เกิดการเรียนรู้
-
กำหนดความคิดรวบยอดที่เกี่ยวข้องในแต่ละสาขาวิชาให้เหมาะสมเพื่อให้เห็นภาพการบูรณาการที่ชัดเจน
ตัวอย่างแนวทางการจัดการเรียนการสอนแบบ Active Learning สำหรับวิชาการบริหารเภสัชกิจ (Pharmacy Administration)
การจัดการเรียนรู้โดยเน้นกระบวนการเรียนรู้ที่สร้างความรู้ให้เกิดขึ้นในตนเอง ด้วยการลงมือปฏิบัติจริงหรือผ่านกิจกรรมการเรียนรู้ที่หลากหลาย โดยอาจารย์ผู้สอนมีบทบาทสำคัญในการกระตุ้นให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้เพิ่มมากขึ้น โดยการเน้นกระบวนการคิดให้นักศึกษาสามารถการวิเคราะห์ สังเคราะห์ จากสิ่งที่ได้รับจากกิจกรรมการเรียนรู้
กำหนดเป้าหมาย
-
นักศึกษาสามารถพัฒนาศักยภาพ ได้แก่ การคิด การแก้ปัญหา การนำความรู้ไปประยุกต์ใช้ในหลักการบริหารงานทั่วไป การจัดการเชิงระบบ การบริหารทรัพยากรมนุษย์ สามารถนำความรู้ไปประยุกต์ใช้ในการบริหารงานเภสัชกรรมในสาขาต่าง ๆ ได้
-
นักศึกษามีส่วนร่วมในการเรียนรู้ ส่งเสริมให้เกิดการร่วมมือในกลุ่มผู้เรียน
รูปแบบการจัดกิจกรรม
การจัดการเรียนรู้ที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญแบบ active learning ที่ผู้เรียนได้ลงมือปฏิบัติและได้ใช้กระบวนการคิด กระตุ้นให้ผู้เรียนมีส่วนร่วมในชั้นเรียนผ่านกิจกรรมการเรียนรู้ที่หลากหลาย ได้แก่ การบรรยาย การทำงานกลุ่ม การอภิปราย แล้วให้ผู้เรียนแสดงความคิดเห็น หรือสะท้อนความคิด โดยมีการประเมินผลการเรียนรู้ระหว่างเรียนจาก กิจกรรมกลุ่ม การนำเสนอ การตอบคำถาม ประเมินจากงานที่ได้รับมอบหมาย
ลักษณะสำคัญของการจัดกิจกรรม ได้แก่
-
วางแผนการทำกิจกรรมเพื่อให้บรรลุเป้าหมาย วิเคราะห์ปัญหาในการเรียนรู้นำมาแก้ปัญหา ซึ่งจะส่งผลต่อผู้เรียนให้มีพัฒนาการการเรียนรู้ที่ดีขึ้น
-
เทคนิคการเรียนการสอนที่เปิดโอกาสให้ผู้เรียนมีส่วนร่วมในกระบวนการเรียนรู้สูงสุด
-
รูปแบบกิจกรรมที่หลากหลายในการกระตุ้นการเรียนรู้ ได้แก่ การทำงานกลุ่มร่วมกัน การอภิปรายจากกรณีศึกษา การสะท้อนความคิด